วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

วันตรุษจีน

 ตรุษจีน เป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน เพราะชาวจีนถือว่า วันตรุษจีน คือวันขึ้นปีใหม่ตามปฎิทินจีน เช่นเดียวกับสงกรานต์วันปีใหม่ไทย ดังนั้นชาวจีนจึงให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้เป็นอย่างยิ่ง และมีการเฉลิมฉลองทั่วโลกโดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ของคนเชื้อสายจีน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีพิธีเฉลิมฉลองแตกต่างกันไป สำหรับปี 2555 นี้ วันตรุษจีนตรงกับวันที่ 23 มกราคม
          สำหรับที่มาของ วันตรุษจีน นั้น เชื่อกันว่าประเพณีนี้มีมานานกว่าสี่พันปีแล้ว จัดขึ้นเพื่อฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เดิมที่ไม่ได้เรียกว่าเทศกาลตรุษจีน แต่มีชื่อเรียกต่างกันตามยุคสมัย นั่นคือเมื่อ 2100 ปีก่อนคริสตศักราชจะเรียกว่า "ซุ่ย" ซึ่งมีความหมายถึงการโคจรครบหนึ่งรอบของดาวจูปิเตอร์ จนกระทั่งต่อมาในยุค 1000 กว่าปีก่อนคริสตศักราช เทศกาลตรุษจีนจะถูกเรียกว่า "เหนียน" หมายถึงการเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์นั่นเอง

          นอกจากนี้ วันตรุษจีน ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันชุงเจ๋" ซึ่งหมายถึงเทศกาลดูใบไม้ผลิ หรือขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ เพราะช่วงก่อนตรุษจีนนั้นตรงกับฤดูหนาว ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่มีอากาศเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ชาวจีนจึงสามารถทำนา ทำสวน ได้อีกครั้งหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวมานั่นเอง

          ส่วนการกำหนด วันตรุษจีน นั้น ตามประเพณีเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีน และถือว่าคืนวันที่ 30 เดือน 12 เป็นวันส่งท้ายปีเก่า ส่วนวันที่ 1 เดือน 1 คือวันชิวอิก หมายถึงวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ
          การเตรียมงานเพื่อการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนนั้น จะเริ่มขึ้นตั้งแต่หนึ่งเดือนก่อน วันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) โดยผู้คนจะเริ่มซื้อข้าวของต่างๆ เพื่อประดับตกแต่งบ้านเรือน และเตรียมทำความสะอาดครั้งใหญ่ ตั้งแต่ชั้นบนลงชั้นล่าง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะเป็นการปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีออกไป ภายในบ้านทั้งประตู หน้าต่าง จะประดับประดาไปด้วยสีแดง และกระดาษสีแดงที่มีคำอวยพรให้อายุยืน ร่ำรวย อยู่ดีมีสุข ฯลฯ

          จากนั้นครอบครัวจะร่วมรับประทานอาหารที่ล้วนแต่มีความหมายมงคลทั้งสิ้น เช่น กุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งความโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาหร่าย จะนำความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร หลังจากทานอาหารค่ำแล้ว ทุกคนในครอบครัวจะนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับ วันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง



          นอกจากนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของ วันตรุษจีน คือ "อั่งเปา" ซึ่งมีความหมายว่า "กระเป๋าแดง" หรือจะใช้คำว่า "แต๊ะเอีย" ซึ่งมีความหมายว่า "ผูกเอว" จากที่คนสมัยก่อนชอบร้อยเงินเป็นพวงผูกไว้ที่เอว โดยการให้อั่งเปานี้ คู่แต่งงานจะให้เงินเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง หลังจากนั้นทุกคน ในครอบครัว จะออกมาจากบ้านเพื่อกล่าวสวัสดีปีใหม่ในหมู่ญาติ และด้วยเพื่อนบ้าน ซึ่งคงคล้ายกับการที่ชาวตะวันตกพูดว่า "Let bygones be bygones" (อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป)  

วันกองทัพไทย

ในวันที่ 18 มกราคม 2550 ประกาศเป็นวันกองทัพไทยเป็นปีแรก ซึ่งก่อนหน้านี้คือ“วันยุทธหัตถี” หรือที่เรียกว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

“วันยุทธหัตถี” หรือที่เรียกว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” หมายถึง วันที่ระะลึกที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อสมเด็จพระมหาอุปราชาของพม่า เมื่อวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ อันตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๑๓๕ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ กำหนดให้วันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี” (แทนวันที่ ๒๕ มกราคม เนื่องจากนายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ได้คำนวณแล้วพบว่าการนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถีเดิมที่ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ ที่กำหนดเป็นวันที่ ๒๕ มกราคมนั้น คลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง) และถือวันนี้เป็นวันรัฐพิธี โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ


ยุทธหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์สมัยโบราณ ถือเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า ยุทธหัตถีหรือการชนช้างเป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้อย่างตัวต่อตัว แพ้ชนะกันด้วยความคล่องแคล่วแกล้วกล้า กับการชำนิชำนาญในการขับขี่ช้างชน โดยมิต้องอาศัยรี้พลหรือกลอุบายแต่อย่างใด เพราะโดยปกติ ในการทำสงครามโอกาสที่จอมทัพทั้งสองฝ่ายจะเข้าใกล้ชิดจนถึงชนช้างกันมีน้อยมาก ดังนั้น กษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีชนะก็จะได้รับการยกย่องว่า มีพระเกียรติยศสูงสุด และแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบแท้


ในสมัยอยุธยามีการยุทธหัตถี รวม ๓ ครั้ง คือ ครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระ อินทราชาพระเจ้าลูกยาเธอได้ชนช้างกับข้าศึกที่นครลำปาง และถูกปืนสิ้นพระชนม์ ครั้งที่สองในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ได้ชนช้างกับพระเจ้าแปรกรุงหงสาวดี และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย ต้องอาวุธข้าศึกทิวงคต และครั้งที่สาม ก็คือครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชนช้างกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี จนได้รับชัยชนะ ซึ่งยุทธหัตถีครั้งนี้กล่าวกันว่าเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ และเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่เลื่องลือไปไกล

หลังจากนั้นเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าไม่มีข้าศึกใดกล้ายกทัพมารุกรานเรานานถึง ๑๕๐ ปี ดังนั้น ในโอกาสครบรอบ ๔๑๕ ปีแห่งวันกระทำยุทธหัตถีจนได้รับชัยชนะ กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำพระราชประวัติโดยย่อของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์


สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยลำดับที่ ๑๘ แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยา เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๐๙๘ ทรงมีสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นพระบิดา และมีพระวิสุทธิกษัตรี ผู้เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และพระสุริโยทัยวีรกษัตรีย์ของไทยเป็นพระมารดา จึงอาจกล่าวได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงได้รับพระสายโลหิตความเก่งกล้าสามารถสืบเนื่องมาจากพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทางพระชนก และเลือดพระสุริโยทัยซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยยิกา(ยาย)ทางพระมารดา


ทรงมีพระสุพรรณกัลยา เป็นพระพี่นาง และมีพระเอกาทศรถเป็นพระอนุชา เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ๑๕ ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๑๓๓ จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ. ๒๑๔๘ ทรงอุทิศเวลาเกือบตลอดรัชสมัยให้กับการศึกสงครามเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ให้กรุงศรีอยุธยาตลอดมา ทำให้ทรงไม่มีพระมเหสีและพระราชโอรสธิดา ดังนั้น เมื่อเสด็จสวรรคต พระเอกาทศรถจึงได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อมา


สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญการรบยิ่ง ทรงฉลาดในการวางแผนยุทธวิธีและอุบายกระบวนศึกที่ไม่เหมือนผู้ใดในสมัยเดียวกัน ทรงเป็นผู้ริเริ่มการรบแบบกองโจร คือ ใช้คนน้อยแต่สามารถต่อสู้กับคนจำนวนมากได้ พระองค์มีความสามารถในการใช้อาวุธที่ทำการรบแทบทุกชนิดอย่างเชี่ยวชาญยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือนไม่ว่าจะเป็นปืน ดาบ ทวนหรือง้าว เป็นต้น


ฝีมือการรบของพระองค์นั้นเรียกได้ว่าเก่งกาจจนเป็นที่ครั่นคร้ามแก่ข้าศึกศัตรู ดังปรากฏในพงศาวดารพม่าพอสรุปได้ว่า วันหนึ่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ทรงตัดพ้อว่า ไม่มีใครที่จะอาสามาสู้รบกับกรุงศรีอยุธยาเลย ทั้งๆที่พระนเรศวรมีรี้พลแค่หยิบมือเดียว แต่ก็ไม่มีใครกล้าไปรบพุ่ง พระยาลอ ขุนนางคนหนึ่ง จึงทูลว่า กรุงศรีอยุธยานั้น สำคัญที่พระนเรศวรองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่ม รบพุ่งเข้มแข็งทั้งบังคับบัญชาผู้คนก็สิทธิ์ขาดรี้พลทั้งนายไพร่กลัวพระนเรศวรยิ่งกว่ากลัวความตาย เจ้าให้รบพุ่งอย่างไรก็ไม่คิดแก่ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น คนน้อยจึงเหมือนคนมาก ข้อความดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระบารมีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้อย่างชัดเจน




อาจกล่าวได้ว่าตลอดพระชนมชีพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไม่เคยทรงอยู่อย่างสะดวกสบายและต้องทรงกระทำการรบมาโดยตลอด กล่าวคือ เมื่อพระชนมายุ ๙ พรรษาก็ต้องไปเป็นตัวประกันที่หงสาวดีอยู่ ๖ ปี ครั้นเสด็จ กลับมากรุงศรีอยุธยาเมื่อพระชนมายุ ๑๕ พรรษา ปีต่อมาพระบิดาก็ส่งไปครองเมืองพิษณุโลก มีอำนาจบัญชาการหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมด ได้ทรงจัดฝึกทหารแบบใหม่ พอพระชนมายุ ๑๙ พรรษาทรงยกกองทัพไปพร้อมพระบิดาเพื่อช่วยทัพหลวงกรุงหงสาวดีตีเมืองเวียงจันทร์ ครั้นพระชนมายุ ๒๓ พรรษา ได้ลงเรือไล่ติดตามพระยาจีนตุขุนนางจีนเมืองเขมรที่หนีไป โดยใช้พระแสงปืนยิงต่อสู้ด้วยพระองค์เอง อย่างไม่หวาดหวั่นหรือหลบกระสุนที่ยิงโต้กลับมาเลย จนศัตรูยิงถูกรางพระแสงปืนที่ทรงอยู่แตกไป


แม้จะจับพระยาจีนตุไม่ได้แต่ความกล้าหาญของพระองค์ก็เป็นที่เลื่องลือ ครั้นพระชนมายุ ๒๔ พรรษา ก็ทรงเป็นแม่ทัพไล่ตีพระทศราชา ซึ่งคุมกองทัพเขมรมาตีโคราชและหัวเมืองชั้นในจนได้ชัยชนะทั้งๆที่กำลังน้อยกว่ามาก จนเขมรขยาดไม่กล้ามารุกรานอีก พอพระชนมายุได้ ๒๖ พรรษาได้แสดงพระปรีชาสามารถในการวางแผนการรบจนตีเมืองคังได้สำเร็จ ขณะที่อีก ๒ กองทัพของพม่าตีไม่สำเร็จ พอพระชนมายุ ๒๙ พรรษาได้ยกทัพไปช่วยรบเมืองอังวะตามคำสั่งหงสาวดี และได้ทราบกลอุบายว่าทางพม่าจะกำจัดพระองค์ จึงแสร้งเดินทัพช้าๆ และต่อมาก็ได้ทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครง เมื่อพ.ศ. ๒๑๒๗ ทำให้กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นเมืองขึ้นของพม่ามา ๑๕ ปี ไม่ต้องขึ้นกับพม่าอีกต่อไป


ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าหงสาวดี (นันทบุเรง)จึงให้สุรกรรมายกทัพมาตามจับพระองค์ๆจึงได้ยิงปืนข้ามแม่น้ำสะโตงถูกสุรกรรมาตาย ต่อมาเมื่อมีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา พระมหาธรรมราชา พระบิดาสวรรคต พระองค์จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และได้ทรงสถาปนาพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราชา แต่ให้มีพระเกียรติสูงเสมอพระเจ้าแผ่นดินอีกองค์หนึ่ง ครั้นพระชนมายุ ๓๗ พรรษา ก็ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา พระชนมายุ ๔๐ พรรษาเสด็จยกทัพไปตีเมืองเขมร จับพระยาละแวกมาทำพิธีปฐมกรรม (คือตัดศีรษะเอาโลหิตมาล้างพระบาท) และแม้แต่ในวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ พระองค์ก็ยังอยู่ในระหว่างการยกทัพไปตีเมืองอังวะ แต่เกิดประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี)ที่พระพักตร์และเป็นพิษจนเสด็จสวรรคตเสียก่อนในปีพ.ศ. ๒๑๔๘ รวมสิริพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา ทรงครองราชย์เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี


ในหนังสือ ๔๐๐ ปีสมเด็จพระนเรศวร ที่เรียบเรียงโดยนายสมชาย พุ่มสอาด นายสมพงษ์ เกรียงไกรเพชร และนายกมล วิชิตสรศาสตร์ ได้เขียนไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นกษัตริย์ที่ปรากฏว่าทรงรอบรู้ศิลปศาสตร์ ถึง ๑๘ อย่าง อันเป็นวิทยาการสำคัญสำหรับขัตติยราชในโบราณอย่างยอดเยี่ยม เช่น ทรงรอบรู้ในยุทธวิธีและยุทธศาสตร์ ทรงรอบรู้หลักและวิธีปฏิบัติเพื่อปกครองใจคน อันเป็นหลักการเดียวกับปัจจุบัน และยังทรงรอบรู้อรรถภาษิต โวหาร รู้แต่งและฟังฉันท์ ทรงรู้ฤกษ์ยาม และวิธีโคจรของดาวหรือดาราศาสตร์ ทรงรู้ทิศและพยากรณ์ อีกทั้งทรงรู้มายาเล่ห์เหลี่ยมและเหตุผลต่างๆ เป็นต้น


ซึ่งความรู้เหล่านี้ทรงศึกษาจากพราหมณ์ ปุโรหิตบ้าง จากพระบิดาโดยตรงบ้าง แต่ส่วนใหญ่ทรงศึกษาจากประสบการณ์ของพระองค์เอง รวมทั้งประสบการณ์จากเมืองพม่าเมื่อครั้นไปเป็นตัวประกันอยู่หงสาวดี ทรงเป็นบุรุษที่มีคุณสมบัติเป็นชายชาติทหารสมกับเป็นนักปกครองอย่างเต็มเปี่ยม คือ ทรงมีความกล้าหาญ ความเข้มแข็ง อีกทั้งยังมีน้ำใจห้าวหาญ เด็ดขาด และมีฝีมือในการต่อสู้ยิ่ง


จากพระราชประวัติโดยสังเขปข้างต้น คงจะทำให้เด็กๆเยาวชน และเราได้ซาบซึ้งและภาคภูมิใจในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ของไทยยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ตลอดพระชนมชีพได้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อบ้านเมือง และอาณาประชาราษฎร์มาโดยตลอด จึงขอเชิญชวนให้พวกเราที่เป็นอนุชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติหน้าที่ของเราอย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตให้สมกับที่พระองค์ท่านได้เสียสละเลือดเนื้อเพื่อรักษาชาติ รักษาแผ่นดินจนตกมาถึงพวกเราในปัจจุบัน
................................................
       

วันกาชาด



วันครู


ความหมายของครู

          ครู หมายถึง ผู้อบรมสั่งสอน ผู้ถ่ายทอดความรู้ ผู้สร้างสรรค์ภูมิปัญญา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมและประเทศชาติ

ความสำคัญของครู

          ในชีวิตของคนเราถือว่า บิดามารดา เป็นผู้มีพระคุณอันสูงสุด เพราะท่านเป็นผู้ให้ชีวิต ให้ความรัก ให้ความเมตตา มีความห่วงใย และเสียสละเพื่อลูก นอกจาก บิดามารดา แล้ว ก็มีครูเป็นผู้มีพระคุณคล้าย บิดามารดา คือ เป็นผู้อบรมสั่งสอนถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ รวมทั้งให้ความรัก ความเมตตาต่อศิษย์ทุกคน นับได้ว่าครูเป็นผู้เสียสละที่ไม่แพ้บุพการี

          ครูจึงนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก ในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ตลอดเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันเป็นหนทางแห่งการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งนำพาสังคมประเทศชาติ ก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ฉะนั้นวันที่ 6 ตุลาคม จึงได้เป็นวันครูสากล เพื่อคนที่เป็นครูทั่วโลกที่เสียสละนำพาเราทุก ๆคน ไปถึงฝั่งฝันนั่นเอง



 

ประวัติความเป็นมา

          วันครู ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ.2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกัน ก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครู และครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้ และความสามัคคีของครู

          ทุกปีคุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา เป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา

          พ.ศ.2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป.พิบูล สงคราม นายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า

          "ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่า วันครู ควรมีสักวันหนนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อวันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง"

          จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ให้มีวันครูเพี่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพจารย์ ส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครูและพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน

          คณะมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น วันครู โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2488 เป็น วันครู และให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าว

          งานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงาน ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญ คือ หนังประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างที่เป็นถาวรวัตถุ 



 

 
บทสวดเคารพครู

          (สวดนำ) ปาเจราจริยาโหนฺติ (รับพร้อมกัน) คุณุตฺตรานุสาสกา

          ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต ทินฺโนวาเท นมามิหํ

(สวดทำนองสรภัญญะ)

          (สวดนำ) อนึ่งข้าคำนับน้อม (รับพร้อมกัน) ต่อพระครูผู้การุณย์

          โอบเอื้อและเจือจุน อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์

          ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน

          ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอรรถให้ชัดเจน

          จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ เอียงเอน

          เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม

          ขจัดเขลาบรรเทาโม หะจิตมืดที่งุนงม

          กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ

          คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร

          ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชม

          (กราบ)

การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันครู
 
          เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในบทบาท และหน้าที่ของครู ตลอดจนจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีครู และบทบาทหน้าที่ของศิษย์ที่พึงปฏิบัติต่อครู คลอดจนการจัดกิจรรมได้เหมาะสม และมีประสิทธภาพ

กิจกรรมวันครู

          การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลาในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

          1. กิจกรรมทางศาสนา

          2. พิธีรำลึกพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตนการกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

          3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬา หรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

         
          ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วย บุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับ ส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอ

          รูปแบบการจัดงานในส่วนกลาง (หอประชุมคุรุสภา) พิธีจะเริ่มตั้งแต่เช้า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภา คณะกรรมการอำนวยคุรุสภา คณะกรรมการการจัดงาน วันครู พร้อมด้วยครูอาจารย์และประชาชนร่วมกันใส่บาตรพระสงฆ์จำนวน 1,000 รูป

          หลังจากนั้นทุกคนที่มาร่วมงานจะเข้าร่วมพิธีในหอประชุมคุรุสภา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานในงาน ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ นายกรัฐมนตรีบูชาพระรัตนตรัย ประธานสงฆ์ให้ศีล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวรายงานต่อนายกรัฐมนตรีกล่าวนำพิธีสวดคำฉันท์รำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์

          จากนั้นประธานจัดงาน วันครู จะเชิญผู้ร่วมประชุมยืนสงบ 1 นาที เพื่อรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ที่ล่วงลับไปแล้ว ต่อด้วยครูอาวุโสในประจำการ ผู้นำร่วมประชุมกล่าวปฏิญาณ

 คำปฏิญาณตนของครู

          ข้อ 1 ข้าจะบำเพ็ญตน ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู

          ข้อ 2 ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ

          ข้อ 3 ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

          จากนั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคล แล้วต่อด้วยนายกรัฐมนตรี มอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอก และในประจำการ สุดท้ายกล่าวปราศรัยกับคณะครูที่มาประชุม

มารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีของครู           1. เลื่อมใสการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ

          2. ยึดมั่นในศาสนาที่ตนนับถือ ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาอื่น

          3. ตั้งใจสั่งสอนศิษย์และปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เกิดผลดีด้วยความเอาใจใส่ อุทิศเวลาของตน ให้แก่ศิษย์ จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้

          4. รักษาชื่อเสียงของตนมิให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามประพฤติการใด ๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียงของครู

          5. ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมอันดีงามของสถานศึกษา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา

          6. ถ่ายทอดวิชาความรู้โดยไม่บิดเบือนและปิดบังอำพราง ไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริตหรือเป็นภัยต่อมนุษย์ชาติ

          7. ให้เกียรติแก่ผู้อื่นทางวิชาการ โดยไม่นำผลงานของผู้ใดมาแอบอ้างเป็นผลงานของตน และไม่เบียดบังใช้แรงงานหรือนำผลงานของผู้อื่นไป เพื่อประโยชน์ส่วนตน

          8. ประพฤติตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความเที่ยงธรรมไม่แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ

          9. สุภาพเรียบร้อยประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ รักษาความลับของศิษย์ ของผู้ร่วมงานและของสถานศึกษา

          10. รักษาความสามัคคีระหว่างครูและช่วยเหลือกันในหน้าที่การงาน
 
รายชื่อประเทศที่มี วันครู

ประเทศที่มี วันครู ที่ไม่ใช่วันหยุด

          - อินเดีย วันครูตรงกับวันที่ 5 กันยายน
          - มาเลเซีย วันครูตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม
          - ตุรกี วันครูตรงกับวันที่ 24 พฤศจิกายน

ประเทศที่มี วันครู เป็นวันหยุด

          - แอลเบเนีย วันครูตรงกับวันที่ 7 มีนาคม
          - จีน วันครูตรงกับวันที่ 10 กันยายน
          - สาธารณรัฐเช็ก วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม
          - อิหร่าน วันครูตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม
          - ละตินอเมริกา วันครูตรงกับวันที่ 11 กันยายน
          - โปแลนด์ วันครูตรงกับวันที่ 14 ตุลาคม
          - รัสเซีย วันครูตรงกับวันที่ 5 ตุลาคม
          - สิงคโปร์ วันครูตรงกับวันที่ 1 กันยายน
          - สโลวีเนีย วันครูตรงกับวันที่ 28 มีนาคม
          - เกาหลีใต้ วันครูตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม
          - ไต้หวัน วันครูตรงกับวันที่ 28 กันยายน
          - ไทย วันครูตรงกับวันที่ 16 มกราคม
          - สหรัฐอเมริกา วันอังคารในสัปดาห์แรกที่เต็ม 7 วันในเดือนพฤษภาคม
          - เวียดนาม วันครูตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายน
ข้าจะบำเพ็ญตน ให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู  ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศิษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ  ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครู และบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

วันเด็ก

 

คำขวัญวันเด็ก



คำขวัญวันเด็ก เป็นคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติของทุกปี โดยคำขวัญวันเด็กมีขึ้นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2499 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่ พ.ศ. 2502 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญวันเด็กให้ จึงได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ปีนายกรัฐมนตรีคำขวัญ
พ.ศ. 2499จอมพล ป. พิบูลสงครามจงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม
พ.ศ. 2502จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความก้าวหน้า
พ.ศ. 2503จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่รักความสะอาด
พ.ศ. 2504จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่อยู่ในระเบียบวินัย
พ.ศ. 2505จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ประหยัด
พ.ศ. 2506จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียรมากที่สุด
พ.ศ. 2507จอมพลถนอม กิตติขจรไม่มีคำขวัญ เนื่องจากงดการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
พ.ศ. 2508จอมพลถนอม กิตติขจรเด็กจะเจริญต้องรักเรียนเพียรทำดี
พ.ศ. 2509จอมพลถนอม กิตติขจรเด็กที่ดีต้องมีสัมมาคารวะ มานะ บากบั่น และสมานสามัคคี
พ.ศ. 2510จอมพลถนอม กิตติขจรอนาคตของชาติจะสุกใส หากเด็กไทยแข็งแรงดีมีความประพฤติเรียบร้อย
พ.ศ. 2511จอมพลถนอม กิตติขจรความเจริญและความมั่นคงของชาติไทยในอนาคต ขึ้นอยู่กับเด็กที่มีวินัย เฉลียวฉลาดและรักชาติยิ่ง
พ.ศ. 2512จอมพลถนอม กิตติขจรรู้เรียน รู้เล่น รู้สามัคคี เป็นความดีที่เด็กพึงจำ
พ.ศ. 2513จอมพลถนอม กิตติขจรเด็กประพฤติดีและศึกษาดี ทำให้มีอนาคตแจ่มใส
พ.ศ. 2514จอมพลถนอม กิตติขจรยามเด็กจงหมั่นเรียน เพียรกระทำดี เติบใหญ่จะได้มีความสุขความเจริญ
พ.ศ. 2515จอมพลถนอม กิตติขจรเยาวชนฝึกตนดี มีความสามารถ
พ.ศ. 2516จอมพลถนอม กิตติขจรเด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติเจริญ
พ.ศ. 2517สัญญา ธรรมศักดิ์สามัคคีคือพลัง
พ.ศ. 2518สัญญา ธรรมศักดิ์เด็กดีคือทายาทของชาติไทย ต้องร่วมใจร่วมพลังสร้างความสามัคคี
พ.ศ. 2519หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชเด็กที่ต้องการเห็นอนาคตของชาติรุ่งเรือง จะต้องทำตัวให้ดี มีวินัย เสียแต่บัดนี้
พ.ศ. 2520ธานินทร์ กรัยวิเชียรรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเยาวชนไทย
พ.ศ. 2521พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ เด็กฉลาดชาติมั่นคง
พ.ศ. 2522พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์เด็กไทยคือหัวใจของชาติ
พ.ศ. 2523พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์อดทน ขยัน ประหยัด เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ. 2524พลเอกเปรม ติณสูลานนท์เด็กไทยมีวินัย ใจสัตย์ซื่อ รู้ประหยัด เคร่งครัดคุณธรรม
พ.ศ. 2525พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ขยันศึกษา ใฝ่หาความรู้ เชิดชูชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นคุณสมบัติของเด็กไทย
พ.ศ. 2526พลเอกเปรม ติณสูลานนท์รู้หน้าที่ ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด มีวินัยและคุณธรรม
พ.ศ. 2527พลเอกเปรม ติณสูลานนท์รักวัฒนธรรมไทย ใฝ่ดีมีความคิด สุจริตใจมั่น หมั่นศึกษา
พ.ศ. 2528พลเอกเปรม ติณสูลานนท์สามัคคี นิยมไทย มีวินัย ใฝ่คุณธรรม
พ.ศ. 2529พลเอกเปรม ติณสูลานนท์นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2530พลเอกเปรม ติณสูลานนท์นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2531พลเอกเปรม ติณสูลานนท์นิยมไทย มีวินัย ใช้ประหยัด ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2532พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2533พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม
พ.ศ. 2534พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณรู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่คุณธรรม นำชาติพัฒนา
พ.ศ. 2535อานันท์ ปันยารชุนสามัคคี มีวินัย ใฝ่ศึกษา จรรยางาม
พ.ศ. 2536ชวน หลีกภัยยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2537ชวน หลีกภัยยึดมั่นประชาธิปไตย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2538ชวน หลีกภัยสืบสานวัฒนธรรมไทย ร่วมใจพัฒนา รักษาสิ่งแวดล้อม
พ.ศ. 2539บรรหาร ศิลปอาชามุ่งหาความรู้ เชิดชูความเป็นไทย หลีกไกลยาเสพติด
พ.ศ. 2540พลเอกชวลิต ยงใจยุทธรู้คุณค่าวัฒนธรรมไทย ตั้งใจใฝ่ศึกษา ไม่พึ่งพายาเสพติด
พ.ศ. 2541ชวน หลีกภัยขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ. 2542ชวน หลีกภัยขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย
พ.ศ. 2543ชวน หลีกภัยมีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ. 2544ชวน หลีกภัยมีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย
พ.ศ. 2545พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรเรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส
พ.ศ. 2546พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรเรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี
พ.ศ. 2547พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรรักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดีๆ อนาคตดีแน่นอน
พ.ศ. 2548พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรเด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด
พ.ศ. 2549พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรอยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด
พ.ศ. 2550พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข
พ.ศ. 2551พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์สามัคคี มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ. 2552อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะฉลาดคิด จิตบริสุทธิ์ จุดประกายฝัน ผูกพันรักสามัคคี
พ.ศ. 2553อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดสร้างสรรค์ ขยันใฝ่รู้ เชิดชูคุณธรรม
พ.ศ. 2554อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะรอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ
พ.ศ. 2555ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรสามัคคี มีความรู้คู่ปัญญา คงรักษาความเป็นไทย ใส่ใจเทคโนโลยี

         

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วันขึ้นปีใหม่

 
 เดิมประเทศไทยกำหนดให้ วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2432 โดยถือว่าวันที่ 31 มีนาคม เป็นวันสุดท้ายของปีเก่าและวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งมีการ จัดฉลองต่อเนื่องกันไปจนถึงวันตรุษสงกรานต์ ต่อมาในปี พ.ศ.2484 ได้เปลี่ยนมากำหนดให้ วันที่ 1 มกราคม ของทุกปีเป็นวันขึ้น ปีใหม่ตามแบบสากล และถือปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้


 
ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม ถึงวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี
 
1. เพื่อเป็นการฉลองชีวิตของคนที่อยู่รอดปลอดภัยในระหว่างปีที่ผ่านมาเป็นการส่งท้าย ปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นชีวิตในวันใหม่ ด้วยการทำความดีและทำบุญทำทาน เพื่อความเป็น สิริมงคล และความเจริญรุ่งเรืองในการดำเนินชีวิตในปีใหม่นั้น ๆ ต่อไป
2. เพื่อเป็นการฉลองความสำเร็จแห่งกิจการงานต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินมาด้วยความเรียบร้อย และผ่านอุปสรรคต่าง ๆ มาได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งการสร้างบุญกุศลอันเป็นทุนสำรองไว้สำหรับการ ดำเนินชีวิตและกิจการงานในปีใหม่ต่อไป
 3. เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล อันเป็นส่วนแห่งความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพบุรุษของตน ตามหน้าที่ของคนไทยที่พึงสนองคุณแก่บุพการี
 4. เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมอันดีงาม

ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ มีกิจกรรมที่ควรอนุรักษ์ฟื้นฟู และส่งเสริมให้มี
การถือปฏิบัติและสืบทอดต่อไป ได้แก่
1. การทำความสะอาดที่อยู่อาศัย อาคารสถานที่ต่าง ๆ เช่น   วัด
โรงเรียน  สถานที่ทำงาน รวมทั้งเครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ เพื่อต้อนรับปีใหม่
2. การทำบุญให้ทาน ฟังเทศน์ ถือศีลและปฏิบัติธรรม
3. การปล่อยนกปล่อยปลา

 4.   การเยี่ยมเยียน บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่เพื่อขอพร และรับพร
 5.   การมอบของขวัญและอวยพรซึ่งกันและกันเพื่อให้มีความสุขความเจริญในการดำเนินชีวิต
 6.   การจัดกิจกรรมอื่น ๆ ตามประเพณีนิยมของแต่ละท้องถิ่น

 

 ประเพณีวันขึ้นปีใหม่ มีกิจกรรมบางอย่างที่มีลักษณะการปฏิบัติที่เบี่ยงเบนไปในทางที่
ไม่เหมาะสมหรืออาจส่งผลกระทบต่อขนบธรรมเนียมทประเพณี หรือส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย
ในชีวิตและทรัพย์สิน กิจกรรมเบี่ยงเบนดังกล่าว ได้แก่

   กิจกรรมที่เบี่ยงเบนและมีผลกระทบต่อขนบธรรมเนียมประเพณี
   กิจกรรมเบี่ยงเบนและมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
   กิจกรรมที่ไม่สมควรกระทำอย่างยิ่ง
   แนวทางการดำเนินงานและหน่วยงานที่รับผิดชอบ